การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง
คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง จึงจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ในการปกป้องรักษาและดูแลทรัพย์สินของบริษัท โดยมีหน่วยงานตรวจสอบภายในทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รัดกุม และเป็นไปตามที่ระเบียบกำหนด รวมทั้งมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อดูแลและกำกับระบบการควบคุมภายในของบริษัท ให้ปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2563 คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ เกี่ยวกับการสอบทานงบการเงินและรายงานทางการเงิน รวมทั้งผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเห็นว่าระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ โดยรวมมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง และจุดอ่อน ที่ผ่านมาได้ในระดับที่น่าพอใจ สามารถให้ความมั่นใจอย่างมีเหตุผลต่อความเชื่อได้ของงบการเงิน มีการดูแลป้องกันทรัพย์สินมิให้ผู้บริหารและพนักงานนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงการทำธุรกรรมกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งและบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน การปฏิบัติงานเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุมเพียงพอและเหมาะสมในด้านต่างๆ 5 องค์ประกอบ คือ การควบคุมภายในองค์กร การประเมินความเสี่ยง การควบคุมการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และระบบการติดตาม
หัวหน้างานตรวจสอบภายใน
บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในของบริษัท ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีความอิสระ มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านการตรวจสอบ โดยในปี 2563 บริษัทตรวจสอบภายในธรรมนิติได้เข้าติดตามผลจากที่เคยตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะเรื่องระบบการขายและการรับชำระเงินของโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์
ในการเข้าตรวจสอบบริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จะประสานงานกับคุณกาญจนา ฤทธิรงค์ขจร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัท เพื่อนัดหมายวันเวลาเข้าตรวจและขอข้อมูลที่ต้องใช้ในการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามให้มีการตอบกลับในประเด็นที่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการตรวจสอบ ทั้งนี้กรณีที่มีการแต่งตั้ง ถอดถอน และโยกย้ายผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานตรวจสอบภายใน ต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
ที่มา : รายงานประจำปี 2563 หน้า 80