Th En
 
คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อช่วยงานของคณะกรรมการบริษัทในการสอดส่องดูแลคุณภาพและความน่าเชื่อถือของระบบบัญชี ระบบตรวจสอบ ระบบการควบคุมภายใน ตลอดจนกระบวนการรายงานทางการเงินของบริษัท

คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 3 ท่าน ซึ่งกรรมการตรวจสอบแต่ละท่านต้องดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทและมีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระตามนิยามที่บริษัทประกาศไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลและกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการตรวจสอบหรือคณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบต้องสามารถใช้ดุลพินิจของตนอย่างอิสระ สามารถอ่านและเข้าใจพื้นฐานของงบการเงินซึ่งจำเป็นต้องมีในการทำหน้าที่กรรมการตรวจสอบ และกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ท่าน ต้องมีความรู้ความชำนาญด้านบัญชีหรือด้านการเงิน

คณะกรรมการตรวจสอบสามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับผู้สอบบัญชีภายนอก ผู้ตรวจสอบภายใน และ ฝ่ายจัดการของบริษัท

คณะกรรมการตรวจสอบต้องประชุมร่วมกันตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง หรือมากกว่าหากจำเป็น และเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ประธานกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่จัดการประชุม ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ให้ความเห็นชอบกับวาระการประชุม ตลอดจนรายงานผลการประชุมให้คณะกรรมการบริษัททราบ

เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง เนื่องจากต้องเป็นผู้จัดเตรียม และนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณา และเป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม ในกรณีมีเหตุจำเป็นซึ่งเลขานุการฯ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คณะกรรมการตรวจสอบอาจมอบหมายบุคคลเข้าร่วมประชุมและทำหน้าที่แทน

กรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยสอดคล้องกับวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยกรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตรวจสอบว่างลงเพราะเหตุอื่นที่นอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนครบตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยบุคคลที่เข้าเป็นกรรมการตรวจสอบแทนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการตรวจสอบซึ่งตนทดแทน

คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ และทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ตลอดจนการนัดหมายการประชุม และงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

  1. - สอบทานให้บริษัทมีรายงานทางการเงิน (รายไตรมาสและประจำปี) ที่ถูกต้องและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบริษัทอย่างเพียงพอก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
  2. - สอบทานให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบภายในที่เหมาะสม เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
  3. - สอบทานให้บริษัทมีระบบการประเมินความเสี่ยงการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ
  4. - สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  5. - พิจารณาคัดเลือกเพื่อเสนอแต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นอิสระเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท พร้อมทั้งเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี ประสานงานกับผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตรวจสอบ ขอบเขต แนวทาง แผนงาน และปัญหาที่พบระหว่างการตรวจสอบ และประเด็นที่ผู้สอบบัญชีเห็นว่าเป็นสาระสำคัญ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. - พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลในการเข้าทำรายการดังกล่าวอย่างถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
  7. - สอบทานความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงและแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของกิจการตามโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต
  8. - จัดทำรายงานผลการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    • ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    • ความเห็นเกี่ยวกับรายงานที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้พบจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร
    • รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  9. - ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้มอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ

ในการปฏิบัติงานตามขอบเขตหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจเรียก สั่งการให้ฝ่ายจัดการ หัวหน้าหน่วยงานหรือพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง มาให้ความเห็น ร่วมประชุม หรือส่งเอกสารตามที่เห็นว่าเกี่ยวข้องจำเป็น รวมทั้งแสวงหาความเห็นที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาทางวิชาชีพอื่นใดเมื่อเห็นว่าจำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัท

คณะกรรมการตรวจสอบปฏิบัติงานภายในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบตามคำสั่งของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทโดยตรงต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย และบุคคลทั่วไป

คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง นิยามและคุณสมบัติของกรรมการอิสระ และ คุณสมบัติ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพยฯ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และ/หรือบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

รายงานคณะกรรมการตรวจสอบประจำปี 2563

คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยกรรมการอิสระ 3 ท่าน โดยมี นายอภิวุฒิ ทองคำ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ นายชัยสิทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ และ นายธนะชัย สันติชัยกูล เป็นกรรมการตรวจสอบ

ในปี 2563 คณะกรรมการตรวจสอบได้ประชุมร่วมกัน 3 ครั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะและแสดงความเห็นในฐานะกรรมการตรวจสอบของบริษัท นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบยังได้ประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีและประชุมร่วมกับผู้ตรวจสอบภายใน ตลอดจนได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในวาระที่เกี่ยวข้อง จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการตรวจสอบจึงได้มีความเห็นดังนี้

  1. 1. งบการเงินประจำปี 2563 มีความเหมาะสม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่ครบถ้วนเพียงพอและถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปตามที่ผู้สอบบัญชีได้เปิดเผยและแสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชี และได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานรายงานทางการเงิน ตลอดจนข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรื่องสำคัญในการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี (Key Audit Matters) ได้แก่ การรับรู้รายได้จากการให้บริการ การด้อยค่าของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ สินทรัพย์ในการดำเนินงานอื่นและเงินลงทุนในบริษัทย่อย
  2. 2. ระบบการควบคุมภายในและระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัท เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ ข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้คณะกรรมการบริษัทสามารถกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและแผนธุรกิจได้อย่างมีระบบ
  3. 3. คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบและสอบทานรายการระหว่างกัน ที่ปรากฏในงบการเงินปี 2563 ว่าเป็นรายการธุรกิจปกติที่มีเงื่อนไขการค้าทั่วไป สมเหตุสมผล และไม่พบรายการใดที่ผิดปกติ และอยู่ภายใต้กรอบของมติคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 (ตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัท)
  4. 4. บริษัทได้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนข้อกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  5. 5. ผผู้สอบบัญชีของบริษัทประจำปี 2563 ได้แก่ นางศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 8802 เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทเป็นปีที่สาม และเป็นบุคคลที่เหมาะสม เพราะมีความรู้และมีความเป็นอิสระ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการสอบบัญชีมาเป็นเวลายาวนาน

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อสอบบัญชีของบริษัทประจำปี 2564 คณะกรรมการตรวจสอบเสนอให้แต่งตั้งนางศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 8802 เป็นผู้ลงนามรับรองงบการเงินของบริษัทเป็นปีที่สี่ หรือนางสาวมาริษา ธราธรบรรพกุล ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 5752 หรือนางสาวพรทิพย์ ริมดุสิต ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 5565 แห่งบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทประจำปี 2564 ต่อเนื่องอีกวาระหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุคคลที่เหมาะสม มีความรู้ ความสามารถ มีความเป็นอิสระ และมีประสบการณ์ในการสอบบัญชีมาเป็นเวลานาน

นายอภิวุฒิ ทองคำ
ประธานกรรมการตรวจสอบ